สำนักประกันคุณภาพการศึกษา
ประวัติความเป็นมา
สำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา จัดตั้งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2545 ในรูปของคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยธนบุรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย/ระดับคณะวิชา/ระดับสาขาวิชา/และระดับหน่วยงานโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาทุกปีการศึกษา พร้อมมีการจัดทำคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาฉบับแรกเมื่อปีการศึกษา 2545 เพื่อใช้เป็นกลไกในการประเมินคุณภาพการศึกษา
สถานศึกษามีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรกประจำปีการศึกษา 2546 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 – 5 ตุลาคม 2547 สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบแรกคณะผู้ประเมินใช้เวลาในการตรวจประเมินเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก วันที่ 20 กันยายน 2547 เป็นการแนะนำตัวต่อผู้บริหารของวิทยาลัยฯ และเยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอน ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการของคณะวิชาต่างๆ การสัมภาษณ์นักศึกษาปัจจุบันทุกชั้นปีและทุกคณะวิชา ช่วงที่สองวันที่ 4 – 5 ตุลาคม 2547 เป็นการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน กรรมการสภาวิทยาลัย นักศึกษาปัจจุบันทุกคณะทุกชั้นปี ภาคปกติ ภาคสมทบ นักศึกษาศิษย์เก่าและกลุ่มชุมชน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างบัณฑิต ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่ สมาชิกสภาเขตพื้นที่ และผู้กำกับสถานีตำรวจ และมีการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสองประจำปีการศึกษา 2548 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 – 1 ตุลาคม 2549 โดยได้ดำเนินการตรวจสอบหลักฐาน เยี่ยมชมสถานที่ และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการศึกษาของสถานศึกษาตามเกณฑ์ 7 มาตรฐานการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.)
ในขณะเดียวกันสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษาได้พัฒนาขึ้นตามลำดับโดยการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา คู่มือการประกันคุณภาพ คู่มือการเขียน SAR แนวทางการพัฒนาและเกณฑ์การประเมินระบบประกันคุณภาพภายใน โดยยึดแนวทาง/หลักการการประเมินตามคู่มือการประเมิน 7 มาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) และคู่มือการประเมิน 9 องค์ประกอบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นแบบอย่างในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตลอดมา จนกระทั่งปัจจุบันมีการจัดโครงสร้างการประเมินการประกันคุณภาพที่ดี มีการประเมินและติดตามคุณภาพการศึกษาภายในทุกปีการศึกษาทั้งในระดับคณะ/สาขาอย่างต่อเนื่อง